วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประเมินตามสภาพจริง

การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment)
จากการอบรมการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ณ โรงแรมไดฮิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ของโรงเรียนพะตงวิทยามูลนิธิ จะเห็นได้ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะเน้นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง ซึ่งครูส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากนัก ผู้เขียนขอสรุปความรู้จากการอบรม และจากการศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนู้
การประเมินผลจากสภาพจริงเป็นทางเลือกใหม่ในการประเมินผลการเรียนทางหนึ่ง ซึ่งแนวทางการประเมินผลจากสภาพจริงนี้ ครูใช้เพื่อลดบทบาทการประเมินด้วยข้อสอบมาตรฐานและการทดสอบอย่างเป็นทางการด้วยข้อสอบแบบเลือกตอบลง และพยายามพัฒนาระบบการประเมินในชั้นเรียน โดยการเสริม่วิธีการประเมินอย่างไม่เป็นทางการสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนการ
สอน ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางและปฏิบัติจริง จากที่ใช้วิธีการประเมินแนวใหม่นี้ได้เสนอแนะว่าในระยะเริ่มแรกควรจะเริ่มต้นอย่างน้อย ๆ ค่อยเป็นค่อยไปในส่วนเนื้อหาสาระที่ครูคิดว่ามั่นใจจะใช้วิธีการดังกล่าวได้ แล้วจึงขยายเพิ่มขึ้นในเนื้อหาส่วนอื่นและวิชาอื่น ๆ รวมกัน
การประเมินผลดังกล่าวสามารถนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง สามารถประเมินความ สามารถ ทักษะ ความคิดขั้นสูงที่ซับซ้อน ตลอดจนความสามารถในการแก้ปัญหาและการประยุกต์ใช้วิชาต่าง ๆ นอกจากนี้วิธีการประเมินผลดังกล่าวเป็นการประเมินเชิงบวก เพื่อค้นหาความสามารถ จุดเด่นและความก้าวหน้าของผู้เรียน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนในจุดที่ต้องการพัฒนาให้สูงขึ้นเต็มตามศักยภาพ เป็นเครื่องมือประเมินผลที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในการประเมินผล เพื่อพัฒนาผู้เรียน(FormativeEvaluation)รวมทั้งสามารถใช้ในการประเมินผลรวม (Summative Evaluation)ในสถานการณ์การเรียนการสอนที่ใกล้เคียงชีวิตจริง เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง นักเรียนได้ปฏิบัติจริงและนักเรียนเป็นผู้สร้างงาน และสร้างความรู้ โดยครูเป็นผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองอย่างเต็มความสามารถ ดังนั้นการประเมินผลดังกล่าวจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ครูผู้สอนได้พัฒนาผู้เรียนให้บรรลุจุดหมายของหลักสูตร สนองความต้องการของผู้เรียนและสังคมได้เป็นอย่างดี
การประเมินผลตามสภาพที่แท้จริง หมายถึง การวัดและประเมินผลกระบวนการทำงานในด้านสมอง หรือการคิด และจิตใจของผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมาตามสิ่งที่ผู้เรียนกระทำ โดยพยายามตอบคำถามว่าผู้เรียนทำอย่างไรและทำไมจึงทำอย่างนั้น การได้ข้อมูลว่า “เขาทำอย่างไร” และ “เขาทำทำไม” จะช่วยให้ผู้สอนได้ช่วยพัฒนาการเรียนของผู้เรียน และการสอนของผู้สอน ทำให้การเรียนการสอนมีความหมายและทำให้เกิดความอยากในการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งการประเมินตามสภาพจริง เป็นกระบวนการ สังเกต การบันทึกและรวบรวมข้อมูลจากงานและกิจกรรมที่นักเรียนทำ เพื่อเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจในการศึกษาถึงผลกระทบต่อเด็กเหล่านั้น การประเมินจากสภาพจริงจะไม่เน้นการประเมินเฉพาะทักษะพื้นฐาน แต่จะเน้นการประเมินทักษะการคิดที่ซับซ้อนในการทำงานของนักเรียน ความสามารถในการแก้ปัญหา และการแสดงออกที่เกิดจากการปฏิบัติในสภาพจริงในการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นผู้ค้นพบ ผู้ผลิตความรู้ ผู้ฝึกการปฏิบัติจริง รวมทั้งเน้นพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งนี้เพื่อสนองจุดประสงค์ของหลักสูตร และความต้องการของสังคม การประเมินผลสภาพจริงจะแตกต่างจากการประเมินผลการเรียนหรือการประเมินเพื่อรับรองผลงานเพราะเน้นการให้ความสำคัญกับพัฒนาการและความต้องการการช่วยเหลือ และการประสบความสำเร็จของผู้เรียนแต่ละคนมากกว่าการประเมินผลการเรียนที่มุ่งให้คะแนนผลผลิตและจัดลำดับเปรียบเทียบกับกลุ่ม ความแตกต่างจากการทดสอบทั่วไปเนื่องจากเป็นการวัดผลโดยตรงในสภาพการแสดงออกจริง ๆ ในเนื้อหาวิชามิได้วัดเฉพาะความรู้และทักษะบางส่วนซึ่งเป็นการวัดโดยอ้อม นอกจากนี้การประเมินผลตามสภาพจริงจะมีความต่อเนื่องในการให้ข้อมูลในเชิงคุณภาพ ที่เป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนได้ใช้เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการสอนให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลได้
ลักษณะสำคัญของการประเมินตามสภาพจริง
การประเมินตามสภาพที่แท้จริง เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการวัดและประเมินผล ซึ่งเข้ามามีบทบาททดแทนในส่วนที่แบบทดสอบมาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบทดสอบเลือกตอบไม่สามารถวัดและประเมินผลได้ ลักษณะสำคัญของการประเมินตามสภาพที่แท้จริงคือ งานที่ปฏิบัติเป็นงานที่มีความหมาย (meaningful task)งานที่ให้นักเรียนปฏิบัติต้องเป็นงานที่สอดคล้องกับชีวิตในชีวิตประจำวัน เป็นเหตุการณ์จริงมากกว่ากิจกรรมที่จำลองขึ้นเพื่อใช้ในการทดสอบเป็นการประเมินรอบด้านด้วยวิธีการที่หลากหลาย (mutiple assessment)เป็นการประเมินนักเรียนทุกด้าน ทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะนิสัย โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิธีแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาการของนักเรียน เน้นให้นักเรียนตอบสนองด้วยการแสดง สร้างสรรค์ ผลิต หรือทำงาน ในการประเมินต้องประเมินหลาย ๆ ครั้งด้วยวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสม เน้นการลงมือปฏิบัติมากกว่าการประเมินความรู้

เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการนำมาตรฐานหลักสูตรไปสู่การออกแบบการจัดการเรียนรู้และการวัดประเมินตาม
สภาพจริง. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2543.
กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ. การประเมินผลจากสภาพจริง. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลดาพร้าว, 2539.
ทิวัตถ์ มณีโชต. การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เกรทเอ็ดดูเคชั่น จำกัด, 2549.
สุวิทย์ มูลคำ, อรทัย มูลคำ. เรียนรู้สู่ครูมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ดวงกมลสมัย จำกัด,2544.
สุภัทรกรณ์ พิบูลย์. การประเมินตามสภาพจริง. กรุงเทพมหานคร : บริษัท จุลธรดีไซน์ จำกัด, 2544.
กรมสามัญศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ. การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2540.